ขุดเพชรจากพระไตรปิฎก พระอานนทเถระ (พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 12: อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต เอตทัคควรรค ข้อที่ 219-223 )
ประวัติความเป็นมาและบุพกรรมในชาติก่อน, การบรรลุธรรม, การได้รับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก, ความเป็นเอตทัคคะ, ต้นบัญญัติสิกขาบท และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างรับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากจนกระทั่งวาระสุดท้าย
พระอานนทเถระ ยอดพุทธอุปัฏฐาก ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุสาวกทั้งหลายใน 5 ประการ (เป็นผู้เลิศในความเป็นพหูสูต, เป็นผู้มีสติ, เป็นผู้มีคติ (ความเป็นไป ความเชื่อมโยงกัน), เป็นผู้มีธิติ (ความเพียร) และเป็นพุทธอุปัฏฐาก)
พระอานนท์ เป็นพระราชโอรสของพระสุกโกทนะ (พระราชโอรสของพระเจ้าอา) พระมารดาคือ พระนางกีสาโคตมี มีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า ได้ออกบวชพร้อมกันเจ้าชายในศากยวงศ์ (พระเจ้าภัททิยศากยราชา, เจ้าชายอนุรุทธะ, เจ้าชายอานนท์, เจ้าชายภัคคุ, เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัต รวมทั้งพระอุบาลีซึ่งเป็นภูษามาลา) เมื่อท่านบวชแล้ว ได้ฟังโอวาทจากพระปุณณมันตานี ได้บรรลุโสดาปัตติผล (อานันทสูตร ว่าด้วยปัจจัยให้มีและไม่ให้มีตัณหามานะทิฏฐิในขันธ์ 5 ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับอนัตตลักขณสูตร)
เพราะด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีสติปัญญา ขยัน อดทน รอบคอบ และเป็นพระญาติใกล้ชิด ย่อม
จะทราบพระอัธยาศัยเป็นอย่างดี ภิกษุทั้งหลายมีฉันทามติให้พระอานนท์รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านจึงทูลขอพร 8 ข้อ (เป็นพรอันเป็นข้อห้าม 4 และเป็นการขอ 4)
ในระหว่างที่รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากและประกอบกับความเป็นพหูสูตของท่าน ทำให้พระอานนท์ทรงจำคำสอนและพระคาถาต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสหรือตอบคำถามไว้ได้ ท่านจึงเป็นขุนคลังของธรรมะที่มีความสำคัญในการสังคายนาพระธรรมวินัย นับว่าเป็นคุณต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้พระอานนท์ยังเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ย่อมสละแม้ชีวิตเพื่อป้องปกพระพุทธองค์จากช้างนาฬาคิรี หรือแม้แต่ในชาติอื่น ๆ ที่โพธิสัตว์เป็นสัตว์ เป็นพญาหงษ์, เป็นผู้มีความสามารถในจัดการหมู่คณะ, เป็นผู้ช่วยทูลขอพุทธานุญาตให้มีการบวชภิกษุณีได้, เป็นผู้ออกแบบจีวร, เป็นผู้มีความประหยัด (จากการสนทนาเรื่องการการใช้ผ้าจีวรกับพระเจ้าอุเทน) เป็นต้น
ทั้งยังเป็นต้นบัญญัติสิกขาบท: ห้ามมิให้ภิกษุหุงต้มในที่อยู่และหุงเอง, ห้ามภิกษุเข้าตำหนักพระราชาก่อนได้รับนิมนต์หรือได้รับอนุญาต เป็นต้น
พระอานนท์ได้บรรลุพระอรหันต์ในคืนก่อนวันประชุมสังคายพระไตรปิฎกหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 3 เดือน ด้วยอิริยาบถกึ่งนั่งกึ่งนอน และในวาระสุดท้ายของท่านได้ทำการปรินิพพานท่ามกลางแม่น้ำโรหินีซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ มีพระประยูรญาติอยู่ทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อมีอายุได้ 120 ปี
“ใครก็ตามที่ได้พบเห็นได้เข้าใกล้พระอานนท์แล้วจะเกิดความยินดีพอใจ เพราะท่านสามารถที่จะกล่าวคำพูดที่ทำให้ผู้ฟังสบายใจได้ มีการแสดงธรรมให้เข้าใจลึกซึ้งได้อย่างพอดี จึงทำให้เป็นผู้ที่ให้โอวาทแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบากสก อุบาสิกาทั้งหลายได้ “…นี้คือความน่าอัศจรรย์ของพระอานนทเถระ ยอดพุทธอุปัฏฐาก
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ใต้ร่มโพธิบท Ep.18, นิทานพรรณนา Ep.21 , Ep.22